ReadyPlanet.com
dot
dot dot
bulletขันน้ำมนต์
bulletเหรียญนาคเกี้ยว
dot
dot
bulletวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
bulletวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
bulletวัดบวรนิเวศววิหาร
bulletวัดระฆังโฆสิตาราม
bulletวัดหัวลำโพง
bulletวัดเทพลีลา
bulletวัดทินกรนิมิต
bulletวัดสุวรรณประสิทธิ์


ข้อแนะนำการทำบุญบ้าน

 

 www.arnisong.com

อานิสงส์

 

ข้อแนะนำในการทำบุญบ้านและทำบุญบริษัท

อย่าเพิ่งทำบุญหากยังไม่ได้อ่าน...... ไม่ว่าท่านจะมีเหตุทำบุญเพราะเชื่อในซินแสหมอดู  หรือเชื่อในโชคลาง หรือทำเพราะเป็นประเพณี อานิสงส์” ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาการทำบุญเลี้ยงพระในโอกาสต่างๆ ทั้งนี้ อานิสงส์” ขอฝากข้อแนะนำที่ควรและไม่ควรปฏิบัติ เพื่อให้การทำบุญของท่านถูกต้องตามหลักพุทธพิธี ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญา มีความเคารพในพระรัตนตรัย เป็นบัณฑิต เป็นผู้ไม่หลงงมงาย ได้รับคำชื่นชมจากพระสงฆ์ และได้รับอานิสงส์ผลบุญอย่างเต็มเปี่ยม และทีสำคัญได้ชื่อว่าเป็น "พุทธะ" คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่แท้จริง

1. เป้าหมายการทำบุญเคหะสถาน การทำบุญบ้านหรือบริษัทก็ตาม ไม่เพียงแต่เป็นประเพณีที่เป็นศิริมงคลแก่เจ้าภาพเท่านั้น หากเนื้อแท้ของการทำบุญคือการแสดงเคารพต่อพระรัตนตรัยอันเป็นที่เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด เพื่อให้การเริ่มต้นเข้าอยู่อาศัยหรือการเริ่มกิจการประสบแต่ความสุขความสำเร็จ อีกนัยหนึ่งของการทำบุญคือเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีอันดีกับเหล่าเทวดา สัมภเวสี ที่อาศัยอยู่ ณ สถานที่นั้นๆก่อนที่เราจะเข้าไปอยู่ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างร่มเย็น ต่างฝ่ายต่างให้คุณกัน ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

2. มารยาทปฏิบัติต่อคณะพระภิกษุสงฆ์  มารยาทที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งคือกิริยาวาจาที่ปฏิบัติต่อพระ  แม้ว่าเจ้าภาจะมีฐานะสังคมใหญ่โตหรือร่ำรวยเพียงใด เจ้าภาพต้องให้ความอ่อนน้อมมีสัมมาคารวะต่อพระเสมอ  (พึงดูพระจริยาวัตรอันงดงามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แม้เป็นพระมหากษัตริย์แต่ก็ทรงให้ความเคารพอ่อนน้อมต่อสถาบันศาสนาและพระภิกษุสงฆ์) เจ้าภาพสามารถขอความเมตตาจากคณะพระภิกษุสงฆ์ให้เจริญพระพุทธมนต์ในบทหนึ่งบทใดเป็นพิเศษได้ แต่ไม่ใช่คาดคั้นหรือกดดันให้พระภิกษุสงฆ์ต้องมาตามฤกษ์หรือต้องสวดตามที่เจ้าภาพต้องการ หรือไม่ให้ความเคารพเกรงใจใช้ท่านให้เจิมทุกๆประตูในบ้าน (เว้นแต่ท่านจะเมตตาทำให้ด้วยความเต็มใจ)  เพราะพระทุกรูปต่างก็มีภารกิจที่ต้องปฏิบัติก่อนและหลังการจัดงานทำบุญ และแต่ละวัดก็อาจมีการลำดับเจริญพระพุทธมนต์ที่แตกต่างกันไป การสั่งพระให้ทำตามความต้องการของเจ้าภาพจึงเป็นการก้าวล่วงความเคารพในพระรัตนตรัย

3. การเลือกวัด ควรเลือกวัดที่อยู่ใกล้ที่จัดงานทำบุญ เพื่อแสดงความเคารพในบุญบารมีที่วัดนั้นๆแผ่คุ้มครองมายังบ้านที่เราอยู่อาศัย และเพื่อความสะดวกในการเดินทางของคณะพระภิกษุสงฆ์ โดยเฉพาะพระที่มีอายุมากจะได้ไม่ลำบากในการเดินทาง หรือพระที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานศาสนกิจ หรือการเรียนศึกษาปริยัติธรรม จะได้สามารถเดินทางกลับวัดทำได้ทัน

4. การเลือกวัน ในพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าทรงสอนหลักเหตุและผลของกรรม ไม่ได้สอนให้เชื่อในเรื่องฤกษ์ยาม กล่าวคือวันที่ทำความดีคือวันดี ดังนั้นการเลือกวันจึงควรเลือกวันที่ตัวเราและหมู่ญาติสามารถมาร่วมงานทำบุญได้พร้อมหน้าโดยสะดวก อาจเป็นวันธรรมดาหรือวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ได้ ที่สำคัญควรนิมนต์พระล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งเดือน 

5. การเตรียมวันทำบุญ ควรเลือกวันเผื่อไว้อย่างน้อย 2 วัน ในกรณีที่วัดที่นิมนต์รับกิจนิมนต์เต็มแล้ว จะได้สามารถขยับไปยังวันที่ว่างแทนได้ เมื่อพระรับกิจนิมนต์แล้ว หากไม่สุดวิสัยจริงๆไม่ควรเลื่อนหรือยกเลิกท่าน

6. การนิมนต์พระ สามารถนิมนต์แบบเฉพาะเจาะจงพระ หรือไม่เฉพาะเจาะจง การถวายทานที่เฉพาะเจาะจงเรียกว่าปาฏิบุคลิกทานส่วนการถวายทานที่ไม่เฉพาะเจาะจงเรียกว่า     ”สังฆทาน” พระพุทธเจ้าทรงยกย่องการถวายทานแบบสังฆทานว่ามีอานิสงส์ผลบุญมากกว่าปาฏิบุคลิกทาน เพราะเป็นการทำทานที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อกว้างขวางกว่า

7. การถวายภัตตาหารเช้าหรือเพล เจ้าภาพทำบุญควรเลือกเวลาการถวายภัตตาหารให้เหมาะสมกับสถานที่และเวลาที่ใช้ในการเดินทางของพระ,เจ้าภาพและแขกร่วมงาน หากทำบุญถวายภัตตาหารเช้าควรเริ่มเวลาประมาณ 7.30 น. หรือหากเลือกถวายภัตตาหารเพลก็ควรเริ่มพิธีเวลาประมาณ 10.30 น. อย่างไรก็ตามเวลาก็อาจยืดหยุ่นตามการปฏิบัติศาสนกิจของพระวัดในวันนั้นๆได้ เช่นกิจบิณฑบาตในตอนเช้า กิจพิธีบรรพชาอุปสมบทในตอนสาย เป็นต้น

8จำนวนพระ โดยประเพณีนิยมคือ 5 หรือ 9 รูป หากสถานที่จัดงานทำบุญมีพื้นที่เพียงพอ ควรนิมนต์พระจำนวน 9 รูป

9. การจัดโต๊ะหมู่บูชาพร ควรอาราธนานำพระพุทธรูปที่มีอยู่แล้วที่บ้านหรือบริษัทมาเป็นประธานในการทำบุญ โดยวางบนชั้นสูงสุดและประดับด้วยดอกไม้เช่นดอกบัว เพื่อแสดงความเคารพในพระรัตนตรัย หากบ้านใดยังไม่มีพระพุทธรูปประจำบ้านก็ควรถือโอกาสในการทำบุญบ้านนี้ จัดหาพระพุทธรูป เพื่อนำมาประดิษฐานไว้เพื่อเป็นศูนย์รวมใจ

10. การจัดหาเสนาสนะ ควรจัดหาเสนาสนะที่เรียบร้อย สะอาด ประณีต สมฐานะ ในการต้อนรับพระ หากหยิบยืมจากวัดมาใช้ ก็ควรใช้ด้วยความระระวัง ไม่ทำของสงฆ์ชำรุดเสียหายจะได้ไม่เป็นหนี้สงฆ์ และควรทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนส่งคืนวัด 

11. ทิศการตั้งโต๊ะหมู่และเสนาสนะในการทำบุญ ในพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนว่าความเป็นมงคลมาจากการหันทิศใดๆ แต่ทรงสอนเรื่องทิศ 6 ว่าด้วยข้อธรรมที่ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนต่อบุคคลต่างๆรอบตัวเรา ดังนั้นการตั้งโต๊ะหมู่และเสนาสนะจึงควรพิจารณาจากความเหมาะสมของสถานที่มากกว่า เช่น ไม่ควรตั้งอยู่ใต้บันได เป็นต้น การทำบุญควรให้ทำด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์ มิใช่ทำด้วยความหลงงมงาย

12. การเตรียมอุปกรณ์ทำบุญ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ครบถ้วน เช่น โต๊ะหมู่บูชา อาสนะพระ ตาลปัตร ขันน้ำมนต์ แป้งเจิม แผ่นทอง สายสิญจน์ เทียนน้ำมนต์ ดอกไม้ ธูปเทียน พานพุ่ม เป็นต้น โดยจัดวางให้เป็นระเบียบถูกที่ถูกตำแหน่ง  

13. การจัดสถานที่ทำบุญ ก่อนวันจัดงานทำบุญควรทำความสะอาดบ้านหรือบริษัทให้สะอาด เก็บสิ่งของต่างๆให้เรียบร้อย ไม่ควรแขวนหรือวางรูปภาพคนหรือสัตว์อยู่เหนือศีรษะคณะพระภิกษุสงฆ์ในขณะนั่งบนเสนาสนะ (อนุโลมรูปวิวทิวทัศน์ที่เหมาะสม)

14. การแต่งกายในวันทำบุญ เจ้าภาพและแขกที่มางานทำบุญควรแต่งกายด้วยชุดสุภาพ สุภาพสตรีไม่ควรนุ่งสั้น หรือเสื้อคอกว้าง ควรนุ่งกางเกงที่ลุกนั่งสะดวก 

15. มารยาทในการไปร่วมงานทำบุญ การไปงานทำบุญคือการไปอนุโมทนาสนับสนุนยินดีการทำความดีทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของเจ้าภาพ ดังนั้นเมื่อไปงานจึงควรนำอาหารหรือปัจจัยไทยธรรมไปร่วมทำบุญถวายพระ อันจะเป็นกุศลต่อผู้ถวายเอง เจ้าของบ้านไม่ควรห้ามปรามหรือปฏิเสธแขกร่วมงาน หากแขกที่มาร่วมงานปรารถนาจะร่วมทำบุญด้วยใจที่บริสุทธิ์ ควรอนุโมทนาสนับสนุนให้ได้ถวายกับคณะพระภิกษุ

16. การปฏิบัติตนระหว่างพระเจริญพระพุทธมนต์ เมื่อคณะพระภิกษุสงฆ์เริ่มเจริญพระพุทธมนต์ให้งดการพูดคุย และควรปิดโทรศัพท์มือถือ ไม่ควรมีเสียงใดๆรบกวนสมาธิพระ งดลุกจากที่นั่งหรือเดินไปเดินมา ให้ประนมมือหลับตาทำจิตใจให้สงบ สำรวมกายวาจาใจเพื่อรับความมงคลจากพระพุทธมนต์  หากมีเด็กเล็กควรควบคุมให้เรียบร้อยไม่ส่งเสียงดัง หากซุกซนมากไม่สามารถควบคุมได้ก็ควรนำออกไปก่อน

17. การเตรียมอาหารบูชาข้าวพระพุทธ ก่อนการการถวายภัตตาหารพระ ควรเตรียมข้าวอาหารหวานคาวและน้ำดื่ม จัดเป็นสำรับขนาดเดียวกับพระสงฆ์ฉัน วางไว้ด้านหน้าโต๊ะหมู่ให้เรียบร้อย

18. การกล่าวถวายภัตตาหาร ผู้เป็นประธานในพิธีหรือเจ้าภาพเลี้ยงพระควรเป็นผู้กล่าวคำถวายด้วยตนเอง เพราะการถวายคือการแสดงตนให้คณะพระภิกษุสงฆ์ตลอดจนเทวดาสัมภเวสีให้รับรู้และอนุโมทนาในผลบุญ และหากเป็นการถวายเพื่ออุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ล่วงลับ ควรใช้คำกล่าวถวายเป็น มตกภัตตาหาร”  

19. วิธีการประเคนถวายพระ หากเป็นสิ่งของที่สามารถยกได้ ให้ยกลอยจากพื้น ผู้ชายให้ยื่นถวายด้วยสองมือถวายส่งที่มือพระภิกษุ ส่วน ผู้หญิงให้วางบนผ้ารับประเคน  เมื่อประเคนอาหารพระแล้วให้ปล่อยมือออกไม่ไปจับแตะต้องอีก มิฉะนั้นจะกลายเป็นการขาดประเคน

20. การเตรียมภัตตาหารถวายพระ อาหารควรประกอบด้วยข้าว อาหารคาว ผลไม้ ของหวาน และน้ำดื่มที่สะอาดและประณีต ในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนที่เหลือเจ้าภาพและแขกสามารถรับประทานหลังพระฉันเสร็จแล้ว และไม่ควรรับประทานอาหารขณะพระกำลังเจริญพระพุทธมนต์ ควรรอส่งพระกลับก่อนจึงค่อยรับประทานอาหาร

21. การจัดของถวายสังฆทาน ควรถวายไทยธรรมที่ดีมีคุณภาพเท่านั้น ไม่ควรถวายด้วยถังสังฆทานที่ด้อยคุณภาพ ปริมาณที่ดูเหมือนมากไม่สำคัญเท่าคุณภาพของที่ถวายและเจตนาที่บริสุทธ์ของผู้ให้ สามารถถวายได้ทั้งอุปโภคและบริโภคพร้อมปัจจัยใส่ซองวางบนถาดที่ถวายสังฆทาน 

22. อานิสงส์การถวายผ้าไตร เจ้าภาพสามารถถวายพระไตรในการประกอบงานทำบุญพร้อมๆกับการทำสังฆทาน อานิสงส์หลักสามประการจากการถวายผ้าไตรคือ ประการที่หนึ่ง พระภิกษุสงฆ์ดำรงอยู่ได้ด้วยผ้าไตร ผู้ถวายได้ชื่อว่าเป็นผู้ต่ออายุพระพุทธศาสนา ประการที่สอง ผ้าไตรหมายถึงวรรณะ ผู้ถวายจึงได้อานิสงส์เป็นผู้มีชาติตระกูล มีวรรณะงดงามและมีสัมมาทิฐิ ประการที่สาม ผู้ถวายผ้าไตรด้วยดีแล้ว เมื่อปรารถนาบวช จะได้รับโอกาสการบวชได้โดยง่าย แม้เป็นหญิงก็ได้เป็นชายและได้บวชในภายภาคหน้า

23. การกล่าวคำอธิษฐานธรรม ก่อนถวายสังฆทาน โดยอริยะพิธีที่ถูกต้องแล้ว ควรกล่าวคำอธิษฐานก่อนทุกครั้ง อธิษฐานเป็นหนึ่งในบารมีสิบทัศ อันประกอบด้วย ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี ที่พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญสั่งสมบุญสร้างบารมีข้ามภพข้ามชาติ การอธิษฐานธรรมหมายถึงการตั้งความปรารถนาที่เป็นกุศลให้สำเร็จด้วยอานุภาพผลบุญที่กระทำไว้ดีแล้ว

24. การทำบุญบังสุกุล สามารถทำได้ในวันเดียวกับการทำบุญเลี้ยงพระ โดยทำหลังคณะพระภิกษุฉันภัตตาหารเรียบร้อยแล้ว เป็นอีกหนึ่งพิธีทำบุญอุทิศกุศลเจาะจงไปยังผู้วายชนม์เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด บรรพบุรุษ และบุพการี เพื่อให้เป็นเสบียงบุญแก่ท่านในสัมปรายภพ สามารถทอดผ้าบังสุกุลวางลงบนภูษาโยงจากอัฐิหรือรูปภาพผู้วายชนม์ ก่อนทอดให้กล่าว นามะรูปัง อนิจจัง นามะรูปัง ทุกขัง นามะรุปัง อนัตตา แล้วทอดผ้าไตรขวางบนภูษาโยง ควรถวายด้วยผ้าไตรที่มีสีตรงกับการนุ่งห่มของวัดนั้นๆ 

25. การกรวดน้ำอุทิศกุศล การกรวดน้ำเป็นการอุทิศกุศลไปยังบรรพบุรุษ บุพการี ครูอาจารย์ หมู่ญาติที่ล่วงลับ เจ้ากรรมนายเวร เทวดา สัมภเวสี สรรพสัตว์ สรรพชีวิตในทุกภพภูมิ เป็นต้น เวลากรวดน้ำจึงควรทำสมาธิส่งบุญไปยังบุคคลข้างต้น โดยเทน้ำให้หมดคนโทและประนมมือรับพรพระจนจบ แล้วจึงค่อยนำน้ำไปเทยังโคนต้นไม้ใหญ่เพื่ออุทิศบุญไปยังพระแม่ธรณีและทวยเทพเทวดา

26. การเจิมและการปะพรมน้ำพระพุทธมนต์ เจ้าภาพกราบนิมนต์ประธานสงฆ์ไปยังที่ๆต้องการเจิม เช่น ประตูทางเข้าออกหลัก ควรทำความสะอาดพื้นผิวให้เรียบร้อยก่อนเจิม เมื่อท่านเจิมแล้วไม่ควรลบออก การปะพรมน้ำเจ้าภาพอาจนำท่านไปพรมตามห้องต่างๆได้ ในขณะพระสงฆ์พรมน้ำพุทธมนต์ ควรประนมมือรับน้ำพุทธมนต์ด้วยความเคารพอ่อนน้อม 

27. การต้อนรับพระ เจ้าภาพควรแสดงความเคารพรอรับพระด้วยตนเอง เมื่อพระมาถึงให้กล่าวคำว่านมัสการครับ/เจ้าคะ” พร้อมกล่าวแนะนำตนเอง และกล่าวนิมนต์นำคณะพระภิกษุสงฆ์ไปยังเสนาสนะที่จัดไว้

28. การส่งพระ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว เจ้าภาพกราบขอบพระคุณในความเมตตาที่ท่านได้มาเป็นเนื้อนาบุญ และนำส่งคณะพระภิกษุสงฆ์ไปยังรถ ควรช่วยท่านยกไทยธรรมที่ถวายสังฆทานแล้วไปยังรถ ให้ประนมมือส่งท่านขึ้นรถด้วยความอ่อนน้อมและรอจนกว่ารถจะเคลื่อนตัวออกไปแล้วจึงค่อยเข้าบ้าน

29. งดสุราและอบายมุข การทำบุญคือการนำความมงคลเข้าสู่บ้าน บุคคล และบริษัท ดังนั้นจึงควรงดการเลี้ยงสุรา เล่นการพนัน ในการทำบุญ อันเป็นอบายมุขสู่ความเสื่อม เพราะความเป็นมงคลมิได้เกิดจากการที่นิมนต์พระเจริญพระพุทธมนต์เท่านั้น แต่หากเกิดจากการที่เจ้าภาพกระทำในสิ่งที่เป็นมงคลคือ ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ประกอบด้วยเป็นสำคัญ

 

30. การเชิญแขกร่วมงานทำบุญ ในกรณีที่เป็นการทำบุญบ้าน หากเจ้าภาพจัดงานได้แยกครอบครัวออกมาแล้ว บุคคลสำคัญที่ควรระลึกถึงและเชิญร่วมงานเป็นอันดับแรกคือ "พ่อและแม่" หากท่านมีชีวิตอยู่ ควรเชิญท่านได้ร่วมทำบุญ หากท่านไม่อยู่ ก็ควรทำบุญอุทิศกุศลแก่ท่าน เพราะความกตัญญูต่อพ่อแม่คือความเป็นสิริมงคลอันสูงสุด และยังความปลาบปลื้มให้ท่านได้เห็นความก้าวหน้าและความสำเร็จของเรา

 

การทำบุญเป็นเรื่องละเอียด ควรทำด้วยความใส่ใจและรอบคอบ ทั้งคำอาราธนาและคำกล่าวถวาย ต้องชัดเจนแม่นยำและครบถ้วน ดำเนินพิธีการทำบุญด้วยความสุภาพอ่อนน้อมเคารพในพระรัตนตรัย หากท่านปรารถนาการทำบุญที่ถูกต้องได้รับความสะดวกและเปี่ยมบุญ ประณีต ปลาบปลื้ม ประทับใจ.... อานิสงส์ขอรับอาสาทำหน้าที่จัดงานทำบุญที่ได้มากกว่าประเพณีทำบุญ ให้เป็นบุญศักดิ์สิทธิ์ เพราะบุญของท่านคืองานของเรา เป้าหมายงานของ"อานิสงส์" 3 ประการคือ พระสงฆ์ชื่นชม ญาติมิตรชื่นชอบ เจ้าภาพชื่นใจ

 

                                                                                                                                    โทรติดต่อสอบถามการจัดงานทำบุญที่ทรงคุณค่าได้ที่

                          คุณฝน 083-809-0999 , 085-666-2288

e-mail : kornvipa999@gmail.com

 

อานิสงส์  รับจัดงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่  รับจัดงานทำบุญบ้าน  รับจัดงานทำบุญสำนักงาน รับจัดงานทำบุญครบ 7 วัน  รับจัดงานทำบุญครบ 50 วัน  รับจัดงานทำบุญครบ 100 วัน  รับจัดงานทำบุญวันเกิด  รับจัดงานงานทำบุญเลี้ยงพระ  รับจัดงานเลี้ยงนอกสถานที่   รับจัดอาหารว่าง  รับจัดอาหารทำบุญเลี่้ยงพระ  รับจัดอาหารงานเลี้ยง   รับจัดอาหารว่าง  รับจัด coffe break  รับจัดอาหารกล่อง  รับจัด Cocktail







Copyright © 2012 All Rights Reserved.
ติดต่ออานิสงส์ คุณฝน 083-809-0999, 085-666-2288 e-mail address : kornvipa999@gmail.com www.arnisong.com